ก่อนซื้อที่ควรรู้บัญญัติ 10 ประการเรื่องที่ดิน

ก่อนซื้อที่ควรรู้บัญญัติ 10 ประการเรื่องที่ดิน

การจะเริ่มทำการเกษตรได้นั้นเราควรมีที่ดินเป็นของตัวเอง แต่ก่อนจะลงมือซื้อที่ดินผืนใด ขออนุญาตให้ข้อคิดเกี่ยวกับปัจจัยที่สำคัญก่อนซื้อที่ดินเพื่อทำการเกษตร ดังนี้


1.  ในที่ดินต้องมีแหล่งน้ำหรือติดกับแหล่งน้ำที่สามารถนำมาใช้ได้ทั้งปี เพราะการซื้อที่ดินที่ไม่มีน้ำ ก็เท่ากับไม่มีประโยชน์ในเชิงเกษตร แหล่งน้ำที่ว่านี้อาจจะเป็นคลองชลประทาน อ่างเก็บน้ำ คลองธรรมชาติ แม่น้ำ ฯลฯ ถ้าเป็นที่ผืนใหญ่ไม่ควรเป็นน้ำบาดาล เพราะอาจมีปริมาณไม่พอเพียงและอาจจะทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการจัดการตะกอนในภายหลัง



2.   ที่ดินควรใกล้กับถนน และไม่ไกลจากบ้านที่อยู่ประจำของคุณมากนัก การไปมาทำได้ง่าย เมื่อการเดินทางสะดวก ก็ทำให้เรารู้สึกอยากไปเยือนบ่อยๆ โดยเฉพาะเกษตรกร part-time ที่ต้องทำงานในวันธรรมดาและไปทำสวนได้เฉพาะวันหยุด หากคุณต้องขับรถ 500 กม. เพื่อไปสวนในวันเสาร์ และขับกลับอีก 500 กม.ในวันอาทิตย์ คุณจะเหนื่อยและท้อไปในที่สุด ระยะทางที่เหมาะสมน่าจะไม่เกิน 200 กม. จากบ้านคุณ อย่างไรก็ตามปัจจัยเรื่องระยะทางนี้ขึ้นกับทุนและความชอบส่วนบุคคล นอกจากนี้ราคาน้ำมันก็เป็นปัจจัยสำคัญด้วย คำนวณค่าน้ำมันคร่าวๆ ว่าระยะทาง 200 กม. รถคุณกินน้ำมันเฉลี่ย 8 กิโลลิตร น้ำมันลิตรละ 30 บาทไป-กลับ จะมีค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าน้ำมัน 1,500
บาทต่อเที่ยว เดือนหนึ่งไป 4 ครั้งก็ประมาณ 6,000 บาท ปีละ 72,000 บาท เทียบกับราคาที่ดินที่อาจจะแพงกว่าแต่ใกล้กว่า อย่างไหนคุ้มกว่ากัน อันนี้ควรคำนวณให้รอบคอบครับ

3.   ที่ดินควรใกล้ตลาดหรือชุมชน หรือผู้ซื้อรายใหญ่ เพื่อที่จะสามารถขนส่งผลผลิตเพื่อจำหน่ายได้โดยง่าย (หากคิดจะปลูกเพื่อจำหน่าย) เช่น อยากปลูกมะม่วงส่งออกแต่ผู้ปลูกอยู่ภาคใต้ ส่วนผู้ส่งออกอยู่ภาคเหนือและภาคกลาง อย่างนี้ ถ้าปลูกไม่มากพอก็จะไม่มีผู้ซื้อวิ่งไปซื้อแน่ๆ ค่าน้ำมันทุกวันนี้แพงมากๆ ค่ะ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาผู้ซื้อมักจะถามก่อนว่าปลูกกี่ไร่ กี่ต้น ผลผลิตกี่ตัน (ถ้าไม่ถึง 4-5 ตัน ส่วนมากรายใหญ่เขาไม่วิ่งมาครับ)

4.   ควรมีเพื่อนบ้านและสังคมที่ดี ก่อนซื้อที่ดินควรลองไปสำรวจดูว่าเพื่อนบ้านมีอัธยาศัยเป็นอย่างไร ที่ดินบางผืนราคาถูกเพราะเพื่อนบ้านขี้ขโมย ผลผลิตอะไรออกมาหายหมด ติดตั้งปั๊มน้ำก็หาย บางทีเผลออาทิตย์เดียวบ้านทั้งหลังรื้อเอาไปขายก็มี ลองไปถามสถานีตำรวจในพื้นที่ดูว่าคดีลักขโมยมีแยะไหม ใครเป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และทัศนคติเขาเป็นอย่างไร

5.   ที่ดินควรมีต้นไม้ขึ้นอยู่ในที่บ้าง เพื่อแสดงว่าดินที่นี่ปลูกต้นไม้ได้ บางคนไปซื้อที่ดินที่เตียนโล่งแม้แต่หญ้าก็ไม่ขึ้น แล้วมาดีใจว่าไม่ต้องถางหญ้าปรับที่ดิน ซึ่งแท้ที่จริงเป็นดินเค็มที่เพาะปลูกอะไรไม่ได้  หากเป็นไปได้ลองสังเกตด้วยว่าต้นไม้ที่ขึ้นในที่ดินนั้นเป็นต้นอะไร
เพื่อจะได้ทราบว่าที่ดินผืนนั้นเพาะปลูกผลไม้ชนิดใดได้ดีที่สุด

6.   ที่ดินทำสวนเกษตรส่วนใหญ่ควรเป็นพื้นราบ เพราะหากเป็นที่ลาดชันเวลารดน้ำต้นไม้ น้ำจะไหลลงเบื้องล่างหมด หากต้องทำขั้นบันไดก็จะเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่าที่ดินผืนราบ แต่หากจะปลูกไม้ยืนต้นพวกไม้ป่า ก็เป็นที่เนินเขาได้ครับ ทั้งนี้ขึ้นกับพืชที่เลือกจะปลูก

7.   ไม่ควรเป็นที่น้ำท่วมขัง ที่ดินบางผืนในช่วงฤดูฝนจะตรงกับแนวน้ำ
ท่วมพอดี อย่างนี้ปลูกพืชอะไรไม่ทันเก็บเกี่ยวก็ตายหมด แล้วอย่ามาดีใจว่าไม่ปลูกพืชก็ได้ไหนๆน้ำมากเลี้ยงปลาเสียเลย ขอโทษ พอน้ำท่วมขึ้นมาปลาที่เลี้ยงก็หายหมดเหมือนกัน

8.  ให้สำรวจหน้าดินของที่ดินที่ซื้อด้วย พอดีมีเพื่อนเกษตรกรโทรมาปรึกษา มีที่ดินแต่หน้าดินที่ปลูกพืชได้มีเพียง 1-2 เมตรลึกลงไปกว่านั้นกลายเป็นดินผสมหินแบบแข็งเลย รากพืชชอนไชลงไปไม่ได้ อย่างนี้หากก่อนซื้อเตรียมแผนไว้ก็คงต้องปรับแผนเพื่อปลูกพืชที่มีระบบรากไม่ลึกมากค่ะ

9. เวลาซื้อที่ดิน อย่ามองแค่ค่าที่ดินอย่างเดียว ให้คำนึงถึงว่าจะต้องมีค่าปรับปรุงที่ดินอีกเท่าไหร่ด้วย เช่น หากที่ดินมีต้นไม้รกเรื้อ หรือมีการขุดร่อง ขุดแนวคันเอาไว้ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของเกษตรกร ต้องจ้างรถแม้คโครปรับปรุงใหม่อีกเท่าไหร่  ที่ดินมีไฟฟ้า มีถนนถึงหรือยัง หากซื้อที่ดินร่วมกับคนอื่นก็ต้องจ่ายค่าทำถนนเข้าไปยังที่ดินอีกเท่าไหร่ ค่าเดินสายไฟเข้าไปยังที่ดิน ค่าขุดคลองส่งน้ำหรือระบบชลประทาน แล้วยังค่าใช้จ่ายในการแบ่งแยกโฉนดอีก เรื่องพวกนี้รวมๆ แล้วอาจทำให้ที่ดินไร่ละ 5 หมื่นกลายเป็นไร่ละ 3 แสนก็เป็นได้

10. การซื้อที่ดินร่วมกับคนอื่น ควรตกลงกันให้แน่ชัดตั้งแต่แรกว่าค่า
ใช้จ่ายต่างๆ จะร่วมกันรับผิดชอบอย่างไร ค่าโอนที่ดิน ค่าสาธารณูปโภค ฯลฯ นอกจากนี้ถนนที่จะตัดเข้าไปยังที่ดินของแต่ละคนจะตกลงค่าใช้จ่ายและกรรมสิทธิ์กันอย่างไร บางคนเห็นว่าที่ดินตนเองอยู่ด้านหน้าก็ไม่ต้องการร่วมออกค่าถนนกับคนที่ซื้อที่ดินที่ลึกไปด้านหลัง เลยทำให้มีปัญหากันได้ แล้วยังเรื่องน้ำ หากคนที่อยู่ต้นน้ำเก็บกักน้ำ คนที่อยู่ปลายน้ำจะทำอย่างไร ควรมีการทำสัญญากันไว้ให้ชัดเจน และเป็นภาระผูกพันกับที่ดิน เพราะหากวันนี้แม้เชื่อใจกัน ไม่มีปัญหากันก็จริง แต่พอผ่านไปหากคนหนึ่งขายที่ไปให้บุคคลอื่น ปัญหาก็อาจจะเกิดขึ้นได้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น