แนวทางเกษตรอินทรีย์

 แนวทางเกษตรอินทรีย์

แนวคิดพื้นฐานของ"เกษตรอินทรีย์"คือการทำการเกษตรแบบองค์รวมซึ่งแตกต่างอย่างมากจากระบบเกษตรแผนใหม่ที่มุ่งเน้นการใช้ปัจจัยการผลิตต่างๆเพื่อเพิ่มผลผลิตเฉพาะพืชที่ปลูกซึ่งเป็นแนวคิดแบบแยกส่วนเพราะให้ความสนใจเฉพาะแต่ผลผลิตของพืชหลักที่ปลูกโดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อทรัพยากรการเกษตรหรือนิเวศการเกษตรสำหรับเกษตรอินทรีย์ซึ่งเป็นการเกษตรแบบองค์รวมจะให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศการเกษตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน,การรักษาแหล่งน้ำให้สะอาดและการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของฟาร์มทั้งนี้เพราะแนวทางเกษตรอินทรีย์อาศัยกลไกและกระบวนการของระบบนิเวศในการทำการผลิต


จากเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นเกษตรอินทรีย์จึงปฏิเสธการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมี เนื่องจากสารเคมีการเกษตรเหล่านี้มีผลกระทบต่อกลไกและกระบวนการของระบบนิเวศนอกเหนือจากการปฏิเสธการใช้สารเคมีการเกษตรแล้วเกษตรอินทรีย์ยังให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลของวงจรของธาตุอาหาร,การประหยัดพลังงาน,การอนุรักษ์ระบบนิเวศการเกษตรและการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งถือได้ว่าเกษตรอินทรีย์เป็นการบริหารจัดการฟาร์มเชิงบวก (positive management)และการจัดการเชิงบวกนี้เองที่ทำให้เกษตรอินทรีย์แตกต่างอย่างสำคัญจากการเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมีแบบปล่อยปะละเลย(ที่มักอ้างว่าเป็นการเกษตรตามแบบธรรมชาติ)หรือเกษตรปลอดสารเคมีและเกษตรไร้สารพิษที่เฟื่องฟูในบ้านเรามานานหลายปี

 เนื่องจากเกษตรอินทรีย์เป็นการเกษตรที่ให้ความสำคัญกับการทำฟาร์มเชิงสร้างสรรค์(เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศการเกษตรในไร่นา)ดังนั้นเกษตรกรที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์จึงจำเป็นต้องพัฒนาการเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและการบริหารจัดการฟาร์มของตนเพิ่มขึ้นด้วยผลที่ตามมาก็คือเกษตรอินทรีย์จึงเป็นแนวทางการเกษตรที่ตั้งอยู่บนกระบวนการแห่งการเรียนรู้และภูมิปัญญาเพราะเกษตรกรต้องสังเกต,ศึกษา,วิเคราะห์-สังเคราะห์และสรุปบทเรียนเกี่ยวกับการทำการเกษตรของฟาร์มตนเองซึ่งจะมีเงื่อนไขทั้งทางกายภาพ(เช่น ลักษณะของดินภูมิอากาศและภูมินิเวศ)รวมถึงเศรษฐกิจ-สังคมที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นเพื่อคัดสรรและพัฒนาแนวทางเกษตรอินทรีย์ที่เฉพาะและเหมาะสมกับฟาร์มของตัวเองอย่างแท้จริง

นอกจากนี้เกษตรอินทรีย์ยังให้ความสำคัญกับเกษตรกรผู้ผลิตและชุมชนท้องถิ่นเกษตรอินทรีย์มุ่งหวังที่จะสร้างความมั่นคงในการทำการเกษตรสำหรับเกษตรกรตลอดจนอนุรักษ์และฟื้นฟูวิถีชีวิตของชุมชนเกษตรกรรมวิถีการผลิตของเกษตรอินทรีย์เป็นวิถีการผลิตที่เกษตรกรต้องอ่อนน้อมและเรียนรู้ในการดัดแปลงการผลิตของตนให้เข้ากับวิถีธรรมชาติอาศัยกลไกธรรมชาติเพื่อทำการเกษตรดังนั้นวิถีการผลิตเกษตรอินทรีย์จึงเป็นวิถีแห่งการเคารพและพึ่งพิงธรรมชาติ ซึ่งสอดคล้องกลมกลืนกับวิถีชีวิตของชุมชนเกษตรพื้นบ้านของสังคมไทย



แต่ในขณะเดียวกันเกษตรอินทรีย์ก็ไม่ได้ปฏิเสธการผลิตเพื่อการค้าเพราะตระหนักว่าครอบครัวเกษตรกรส่วนใหญ่จำเป็นต้องพึ่งพาการจำหน่ายผลผลิตเพื่อเป็นรายได้ในการดำรงชีพขบวนการเกษตรอินทรีย์พยายามส่งเสริมการทำการตลาดผลผลิตเกษตรอินทรีย์ทั้งในระดับท้องถิ่นประเทศและระหว่างประเทศโดยการตลาดท้องถิ่นอาจมีรูปแบบที่หลากหลายตามแต่เงื่อนไขทางสภาพเศรษฐกิจและสังคมของท้องถิ่นนั้นเช่นระบบชุมชนสนับสนุนการเกษตร(Community SupportAgriculture-CSA)หรือระบบอื่นๆที่มีหลักการในลักษณะเดียวกันส่วนตลาดที่ห่างไกลออกไปจากผู้ผลิตขบวนการเกษตรอินทรีย์ได้พยายามพัฒนามาตรฐานการผลิตและระบบการตรวจสอบรับรองที่สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ว่าทุกขั้นตอนของการผลิตแปรรูปและการจัดการนั้นเป็นการทำงานที่พยายามอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมตลอดจนรักษาคุณภาพของผลผลิตให้เป็นธรรมชาติเดิมมากที่สุด

จากแนวคิดหลักพื้นฐานของเกษตรอินทรีย์ที่มุ่งเน้นการทำการเกษตรที่อนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมแนวทางปฏิบัติของเกษตรอินทรีย์จึงเน้นการผลิตความสอดคล้องกับวิถีธรรมชาติโดยการประยุกต์ปรับใช้กลไกนิเวศธรรมชาติสำหรับการทำเกษตรที่สำคัญได้แก่การหมุนเวียนธาตุอาหาร,การสร้างความอุดมสมบูรณ์ของดิน,ความสัมพันธ์แบบสมดุลของสิ่งมีชีวิตที่หลากหลาย,การอนุรักษ์และฟื้นฟูนิเวศการเกษตร






การพึ่งพาตนเองด้านปัจจัยการผลิต

เกษตรอินทรีย์มีแนวทางที่มุ่งให้เกษตรกรพยายามผลิตปัจจัยการผลิตต่างๆเช่นปุ๋ยอินทรีย์เมล็ดพันธุ์ ฯลฯด้วยตนเองในฟาร์มให้ได้มากที่สุดแต่ในกรณีที่เกษตรกรไม่สามารถผลิตได้เอง(เช่นมีพื้นที่การผลิตไม่พอเพียงหรือต้องมีการลงทุนสูงสำหรับการผลิตปัจจัยการผลิตที่จำเป็นต้องใช้)เกษตรกรก็สามารถซื้อหาปัจจัยการผลิตจากภายนอกฟาร์มได้แต่ควรเป็นปัจจัยการผลิตที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่น

แนวทางนี้เป็นไปตามหลักการสร้างสมดุลของวงจรธาตุอาหารที่กระตุ้นให้เกษตรกรพยายามจัดสมดุลของวงจรธาตุอาหารในระบบที่เล็กที่สุด(ซึ่งก็คือในฟาร์มของเกษตรกร)และมีความสอดคล้องกับนิเวศของท้องถิ่นอันจะ

ช่วยสร้างเสถียรภาพและความยั่งยืนของระบบการผลิตในระยะยาวนอกจากนี้การเลือกใช้ปัจจัยการผลิตที่มีอยู่ในท้องถิ่นยังเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและลดปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการขนย้ายปัจจัยการผลิตเป็นระยะทางไกลๆ

การพึ่งพาตนเองด้านปัจจัยการผลิตยังมีนัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญกล่าวคือเกษตรอินทรีย์ไม่ใช่เพียงแค่เทคนิคการผลิตแต่เป็นวิถีชีวิตและขบวนการทางสังคมจากประสบการณ์ของการพัฒนาระบบเกษตรเคมีที่ผ่านมาเกษตรกรสูญเสียการเข้าถึงและการควบคุมปัจจัย
การผลิตและกระบวนการผลิตในเกือบทุกขั้นตอนจำเป็นต้องพึ่งพิงองค์กรภาครัฐและธุรกิจเอกชนในการจัดหาปัจจัยการผลิตและ เทคโนโลยีการผลิตเกือบทุกด้านจนเกษตรกรเองแทบไม่ต่างไปจากแรงงานรับจ้างในฟาร์มที่ทำงานในที่ดินของตนเองการส่งเสริมการพึ่งพาตนเองของเกษตรกรในระบบเกษตรอินทรีย์จึงเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเข้มแข็งและความเป็นอิสระของเกษตรกรและองค์กรเกษตรกรซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตยระดับรากหญ้าอีกด้วย




การพึ่งพากลไกธรรมชาติในการทำเกษตร

เกษตรอินทรีย์ตั้งอยู่บนปรัชญาแนวคิดที่ว่าการเกษตรที่ยั่งยืนต้องเป็นการเกษตรที่เป็นไปตามครรลองของธรรมชาติไม่ใช่การเกษตรที่ฝืนวิถีธรรมชาติดังนั้นการทำเกษตรจึงไม่ใช่การพยายามเอาชนะธรรมชาติหรือการพยายามดัดแปลงธรรมชาติเพื่อการเพาะปลูกแต่เป็นการเรียนรู้จากธรรมชาติและปรับระบบการทำเกษตรให้เข้ากับวิถีแห่งธรรมชาติ

กลไกในธรรมชาติที่สำคัญต่อการทำเกษตรอินทรีย์ได้แก่วงจรการหมุนเวียนธาตุอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งวงจรไนโตรเจนและคาร์บอนวงจรการหมุนเวียนของน้ำ,พลวัตของภูมิอากาศและแสงอาทิตย์รวม
ทั้งการพึ่งพากันของสิ่งมีชีวิตอย่างสมดุลในระบบนิเวศทั้งในเชิงของการเกื้อกูลการพึ่งพาและห่วงโซ่อาหาร

ตามที่ต่างๆทั่วโลกย่อมมีระบบนิเวศและกลไกตามธรรมชาติที่แตกต่างกันออกไปเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์จึงจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ถึงสภาพเงื่อนไขของท้องถิ่นที่ตนเองทำการเกษตรอยู่การหมั่นสังเกต เรียนรู้วิเคราะห์-สังเคราะห์และทำการทดลองเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ต้องดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่ว่าระบบฟาร์มเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรแต่ละรายจะได้ใช้ประโยชน์จากกลไกธรรมชาติและสภาพนิเวศท้องถิ่นอย่างเต็มที่

การอนุรักษ์และฟื้นฟูนิเวศการเกษตร

แนวทางสำคัญของ"เกษตรอินทรีย์"ก็คือการอนุรักษ์ระบบนิเวศการเกษตรและสิ่งแวดล้อมด้วยการปฏิเสธการใช้สารเคมีสังเคราะห์ทุกชนิดทั้งนี้เพราะปัจจัยการผลิตที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์ทำลายสมดุลของนิเวศการเกษตรและส่งผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช(ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีฆ่าแมลงสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราและสารเคมีกำจัดวัชพืช)มีผลต่อสิ่งมีชีวิตต่างๆที่อยู่ในฟาร์มทั้งที่อยู่บนผิวดินและใต้ดินเช่นสัตว์แมลงและจุลินทรีย์ในกลไกธรรมชาติสิ่งมีชีวิตต่างๆเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการสร้างสมดุลของนิเวศการเกษตรไม่ว่าจะเป็นการช่วยควบคุมประชากรของสิ่งมีชีวิตอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งศัตรูพืชหรือการพึ่งพาอาศัยกันในการ
ดำรงชีวิตเช่น

การผสมเกสรและการช่วยย่อยสลายอินทรีย์วัตถุซึ่งสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ส่วนใหญ่มีทั้งที่เป็นประโยชน์ต่อพืชที่เกษตรกรเพาะปลูกหรืออย่างน้อยก็ไม่ได้สร้างผลเสียกับพืชที่ปลูกแต่อย่างใดแต่การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชนั้นมีผลทำลายสิ่งมีชีวิตทั้งหมดโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งมีชีวิตที่เป็นประโยชน์ในขณะที่โรคและแมลงศัตรูพืชมักจะมีความสามารถพิเศษในการพัฒนาภูมิต้านทานต่อสารเคมีดังนั้นเมื่อมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชแมลงที่เป็นประโยชน์จึงถูกทำลายได้โดยง่ายใน
ขณะที่แมลงศัตรูพืชสามารถอยู่รอดได้โดยไม่เป็นอันตรายแม้แต่ปุ๋ยเคมีก็มีผลเสียต่อจุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตในดินทำให้สมดุลของนิเวศดินเสีย ดังนั้นเกษตรอินทรีย์จึงห้ามไม่ให้ใช้ปัจจัยการผลิตที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์ทุกชนิดในการเพาะปลูก

นอกเหนือจากการอนุรักษ์แล้วแนวทางเกษตรอินทรีย์ยังเน้นให้เกษตรกรต้องฟื้นฟูสมดุลและความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศด้วยซึ่งหลักการนี้ทำให้เกษตรอินทรีย์มีความแตกต่างอย่างมากจากระบบเกษตรปลอดสารเคมีที่รู้จักกันในประเทศไทยแนวทางหลักในการฟื้นฟูนิเวศการเกษตรก็คือการปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรีย์วัตถุและ
การเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ

สำหรับระบบเกษตรอินทรีย์ดินถือว่าเป็นกุญแจสำคัญเพราะการปรับปรุงบำรุงดินทำให้ต้นไม้ได้รับธาตุอาหารอย่างครบถ้วนและสมดุลซึ่งจะช่วยให้ต้นไม้แข็งแรงมีความต้านทานต่อการระบาดของโรคและแมลงอันจะทำให้เกษตรกรไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งยังสามารถเพิ่มผลผลิตได้อย่างยั่งยืนกว่าการเพาะปลูกด้วยระบบเกษตรเคมีอีกด้วยนอกจากนี้ผลผลิตของเกษตรอินทรีย์ยังมีรสชาติดีและมีคุณค่าทางโภชนาการที่ครบถ้วน

นอกเหนือจากการปรับปรุงบำรุงดินแล้วการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในไร่นาก็เป็นสิ่งจำเป็นนับเป็นเรื่องสำคัญต่อความยั่งยืนของระบบนิเวศการเกษตรเพราะการที่สิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดอยู่ร่วมกันย่อมก่อให้เกิดความเกื้อกูลและสมดุลของระบบนิเวศซึ่งจะช่วยเสริมสร้างกระบวนการและพลวัตทางธรรมชาติที่เกื้อหนุนต่อการทำเกษตรอินทรีย์อีกต่อหนึ่งวิธีการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพอาจทำได้หลายรูปแบบเช่นการปลูกพืชร่วม,พืชแซม,พืชหมุนเวียน,ไม้ยืนต้นหรือการฟื้นฟูแหล่งนิเวศธรรมชาติในไร่นาหรือบริเวณใกล้เคียง

ที่มาข้อมูล : มูลนิธิสายใยแผ่นดิน  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น